คันไม้คันมืออยากหยิบเด็คขึ้นมาและเริ่มเล่นแล้วใช่ไหม ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการดาวน์โหลด Hearthstone ตอนนี้ แล้วมาเริ่มกันเลย! และถ้าหากคุณยังมีคำถามที่อยากรู้หลังจากจบโหมดสอนเล่นในเกมแล้ว ข้อมูลในหน้าเหล่านี้จะช่วยสอนคุณในสิ่งที่คุณได้พลาดไป
ข้อมูลทั้งหมดที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับหน้าจอเกมของ Hearthstone นั้นสามารถสรุปได้ด้วยภาพหน้าจอเพียงภาพเดียว เรารู้ว่าแค่คำพูดคงไม่พอ มาดูภาพหน้าจอกันดีกว่า:
วิธีเล่น
ลากเก้าอี้มาใกล้ๆ แล้วมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน (และไม่พื้นฐาน) ที่คุณควรรู้ก่อนจะเริ่มต้นเส้นทางสู่การเป็นเซียน Hearthstone
ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าการ์ดใน Hearthstone สามารถจำแนกประเภทเป็นมินเนี่ยน เวทมนตร์ และอาวุธ คุณยังรู้ด้วยว่าการ์ดบางใบมีความสามารถตรงไปตรงมา (“สร้างความเสียหาย 6 แต้ม”) ในขณะที่การ์ดบางใบมีเงื่อนไขและความสามารถที่เฉพาะเจาะจงกว่า เรามาดูความสามารถเหล่านี้เพื่อเรียนรู้ว่าคุณสามารถผสานพลังของการ์ดต่างๆ เพื่ออัดศัตรูบนกระดานอย่างงดงามได้อย่างไร
มินเนี่ยนบางตัวมีความสามารถที่จะมีผลคงอยู่ตลอด ตราบใดที่มินเนี่ยนตัวนั้นอยู่บนกระดาน ยกตัวอย่างเช่น [[หัวหน้าหน่วยจู่โจม]] (Raid Leader) มีความสามารถในการมอบพลังโจมตี +1 ให้มินเนี่ยนตัวอื่นของคุณทั้งหมด ในขณะที่ [[ดราก้อนฮอว์ควัยเยาว์]] (Young Dragonhawk) มีคีย์เวิร์ดวายุพิโรธที่ทำให้มันสามารถโจมตีได้เทิร์นละสองครั้ง
ความสามารถเหล่านี้จะทำงานเมื่อมีเงื่อนไขบางอย่างตรงกับความต้องการ:
ความสามารถของการ์ดบางใบสามารถนำมารวมกันเพื่อให้เกิดพลังในการทำลายที่รุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น:
ไม่ว่าจะเป็นเมจที่ผลาญพลังโจมตีอันรุนแรงไปกับมินเนี่ยนที่คอยยั่วยุ แทนที่จะเอาไว้กำจัดคู่ต่อสู้ หรือวอริเออร์ที่ต้องเสียท่าเนื่องจากนำขวานของตัวเองไปดวลกับมินเนี่ยนที่อาจจะตัวใหญ่เกินไปสำหรับเขา เราเคยเห็นความผิดพลาดแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมเคล็ดลับพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยให้คุณเล่นเกมได้ดียิ่งขึ้น
การ์ดเสริมพลังหรือที่เรียกว่าบัฟนั้นมีประโยชน์ แต่ถ้าคุณมีบัฟจำนวนมากในเด็คแต่แทบจะไม่มีมินเนี่ยนให้เสริมพลังเลย ก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าคุณบัฟมินเนี่ยนเพียงตัวเดียวซ้ำแล้วซ้ำเล่า มินเนี่ยนตัวนั้นก็จะตกเป็นเป้าหมายของเวทมนตร์กำจัดมินเนี่ยนได้โดยง่าย
โดยส่วนใหญ่แล้ว การร่าย [[กระสุนมนตรา]] (Arcane Missiles) ในเทิร์นแรกเพื่อสร้างความเสียหาย 3 แต้มใส่ศัตรูนั้นถือเป็นการใช้การ์ดสิ้นเปลือง เราขอแนะนำให้ถือการ์ดไว้ในมือจนกว่าคุณจะสามารถแลกมินเนี่ยนได้อย่างคุ้มค่าเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
หากคุณจัดเด็คที่ใช้การ์ดคอมโบจำนวนมาก ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะจั่วไม่ได้การ์ดที่ต้องการในลำดับที่เหมาะสม ดังนั้นคิดคอมโบที่แข็งแกร่งไม่ต้องเยอะมาก แต่เตรียมกลยุทธ์โดยรวมให้รัดกุมแทนจะดีกว่า เราจะพูดถึงวิธีจัดเด็คที่ดีในส่วน “การจัดเด็คแรก”
คุณมีเวลามากถึง 90 วินาทีในการตัดสินใจก่อนที่เชือกจะไหม้จนหมดแล้วจบเทิร์นของคุณ ใช้เวลาคิดถึงความเป็นไปได้และตัวเลือกที่คุณมีก่อนที่จะเล่นการ์ดของคุณ คุณอาจพบทางออกหรือวิธีเล่นการ์ดที่คุณเกือบมองข้ามไปก็ได้!
เราได้บอกคุณแล้วว่าอย่าเล่นบัฟมากเกินไป และอย่าใช้เวทมนตร์โดยเปล่าประโยชน์ แต่ก็อย่าถือการ์ดไว้ในมือนานเกินไป หากคุณมีเวทมนตร์หรือมินเนี่ยนที่ทำให้เกมได้เปรียบในตอนนี้ ก็รีบใช้ซะ!
คุณใช้เวลาทั้งเทิร์นเพื่อเรียงลำดับการโจมตีและการใช้เวทมนตร์เพื่อกำจัดมินเนี่ยนของคู่ต่อสู้ และในที่สุดคุณก็เริ่มได้เปรียบและพร้อมที่จะเดินเกมรุกหนัก ทว่าคุณกดปุ่มจบเทิร์นแล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าคู่ต่อสู้ของคุณมีพลังชีวิต 12 แต้ม ในขณะที่ในมือของคุณมีเวทมนตร์ที่สามารถสร้างความเสียหายได้มากถึง 13 แต้ม... อย่าลืมจับตาดูพลังชีวิตของคู่ต่อสู้และคำนวณว่าคุณสามารถสังหารฮีโร่ศัตรูได้ในเทิร์นนั้นหรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจทีหลังว่าเกือบจะชนะไปแล้ว
บางครั้งคุณสามารถเล่นการ์ดทั้งหมดในมือได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่คู่ต่อสู้ของคุณถือการ์ดเยอะมาก เกือบถึง 10 ใบเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณเล่นการ์ดทั้งหมดในมือของคุณแล้วไม่สามารถชนะเกมในเทิร์นนั้นได้ เราขอแนะนำว่าอย่าทำเช่นนั้น ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะความได้เปรียบของการ์ดยังไงล่ะ
ความได้เปรียบของการ์ดคือความสามารถในการเล่นการ์ดในมือคุณ ยิ่งคุณมีการ์ดในมือมากเพียงใด คุณก็มีโอกาสที่จะถือการ์ดสำหรับแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น ถือได้ว่าถ้าคุณถือการ์ดในมือมากกว่า คุณมีความได้เปรียบของการ์ดมากกว่า และถ้าคุณมีมินเนี่ยนบนกระดานมากกว่า ก็ถือว่าคุณมีความได้เปรียบของการ์ดมากกว่าเช่นกัน เมื่อคุณมีจำนวนมินเนี่ยนมากกว่า คุณก็มีโอกาสใช้งานการ์ดเพื่อสร้างความได้เปรียบเต็มที่กว่า
วิธีหลักในการสร้างความได้เปรียบของการ์ดใน Hearthstone คือการใช้ความสามารถจั่วการ์ดจากเวทมนตร์ เช่น [[ภูมิปัญญาแห่งศาสตร์ลับ]] (Arcane Intellect) หรือจากมินเนี่ยน เช่น [[โฆษกประมูลแห่งแกดเจ็ตแซน]] (Gadgetzan Auctioneer) เป็นต้น หากคุณต้องการรักษาความได้เปรียบของการ์ด
พยายามเล่นการ์ดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้คุณยังได้เปรียบอยู่ หลีกเลี่ยงการใช้การ์ดจนหมดมือ ยกเว้นว่าคุณจะมั่นใจจริงๆ ว่าจะได้รับชัยชนะ
ลองคิดว่าการใช้มินเนี่ยนและเวทมนตร์นั้นเป็นเหมือนกับการแลกตัวหมากในเกมหมากรุก หากคุณสละมินเนี่ยนของคุณสามตัวเพื่อกำจัดมินเนี่ยนของคู่ต่อสู้เพียงตัวเดียว การเล่นในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการแลกที่ไม่คุ้มค่า เช่นเดียวกัน หากคุณสามารถกำจัดมินเนี่ยนของคู่ต่อสู้ได้สามตัวแลกกับการ์ดของคุณหนึ่งใบ ก็ถือเป็นการแลกที่ดี!
ลองใส่การ์ดที่ทำให้คุณได้จั่วเพิ่มลงในเด็คบ้าง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเล่นการ์ดและการจั่วการ์ดมาเพิ่ม
วิธีเล่น
ถ้าคุณใช้เด็คพื้นฐานจนเชี่ยวชาญจนมีความคิดใหม่ๆ ที่อยากลอง ก็ได้เวลาที่จะใช้การ์ดในคอลเลกชันของคุณเพื่อจัดเด็คใหม่ของคุณเองแล้ว การจัดเด็ค Hearthstone ถือเป็นประสบการณ์ที่สนุกและท้าทาย แต่อาจทำให้คุณหัวเสียเวลาเอาเด็คไปลองถ้าคุณไม่รู้ว่าเด็คที่ดีควรเป็นอย่างไร เรามีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณได้เริ่มต้นจัดเด็คอย่างถูกต้อง:
คุณคิดว่าการ์ดใบไหนน่าสนใจ และคุณอยากให้เด็คของคุณทำอะไรได้ คุณอาจจะอยากลองจัดเด็คฮันเตอร์ที่เน้นการเสริมพลังฝูงสัตว์ป่าให้ดุร้าย หรืออยากลองจัดเด็คเมจที่แอบแทรกกับดักสุดแยบยล ไม่ว่าจะจัดเด็คอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดเด็คคือเป้าหมายของเด็คนั้น
เมื่อคุณมีธีมของเด็คในใจแล้ว ต่อไปก็ต้องคำนึงถึงแผนการเล่นของคุณ คุณต้องการเทมินเนี่ยนหมดหน้าตักแล้วหวังให้มินเนี่ยนเหล่านั้นอยู่รอด หรือคุณต้องการยื้อและควบคุมเกมจนกว่าคุณจะสามารถใช้คอมโบปิดฉากสุดบ้าคลัง
เมื่อคุณมีทั้งธีมและแผนการชนะเกม (หรือไพ่ตาย) คุณก็สามารถจัดเด็คที่ตรงตามเป้าหมายในใจของคุณได้ด้วยวิธีดังนี้:
ต่อไปก็เริ่มเพิ่มการ์ด ดูเงื่อนไขชนะเกมหรือไพ่ตายของคุณ แล้วเริ่มจากการเพิ่มเวทมนตร์หรือมินเนี่ยนประจำคลาสของคุณที่ช่วยสนับสนุนธีมของเด็ค ก่อนจะขยายตัวเลือกไปถึงการ์ดเป็นกลาง เรากลับไปที่เด็คฮันเตอร์สัตว์ป่าที่เรายกตัวอย่างไว้ก่อนหน้านี้กันดีกว่า แล้วมาดูกันว่าการ์ดที่เหมาะสำหรับการเติมมินเนี่ยนสัตว์ให้เต็มกระดานแล้วเสริมพลังให้พวกมันแข็งแกร่งนั้นมีอะไรบ้าง ตัวเลือกการ์ดที่เห็นได้ชัดเจนมีหลายใบ เช่น [[ปล่อยหมาล่าเนื้อ]] (Unleash the Hounds) [[เพื่อนร่วมทาง]] (Animal Companion) และ [[หมาป่า]] (Timber Wolf) แต่คุณควรเพิ่มเวทมนตร์หรืออาวุธที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตรอดนานพอที่จะทำตามแผนเหล่านี้ด้วย
เมื่อเด็คของคุณมีการ์ดทั้งหมดที่คุณคิดว่าตรงตามธีมและเงื่อนไขชนะเกมของเด็คแล้ว ก็ได้เวลาเสริมเด็คด้วยการ์ดสนับสนุน การ์ดเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องตรงกับธีมของคุณ แต่อาจเป็นการ์ดที่ช่วยให้คุณสามารถจั่วการ์ดสำคัญ เอาตัวรอด แก้ทางเด็คที่เป็นที่นิยมในเกมจัดอันดับ หรือเงื่อนไขชนะเกมสำรอง ยกตัวอย่างเช่นการเพิ่ม [[ปีศาจเมือกบึงกรด]] (Acidic Swamp Ooze) เพื่อแก้ทางเด็คที่ใช้อาวุธเยอะๆ การเพิ่ม [[โนมนักประดิษฐ์]] (Gnomish Inventor) เพื่อช่วยให้คุณจั่วการ์ดสำคัญ หรือการเพิ่ม [[เดธวิง]] (Deathwing) สำหรับเวลาที่คุณจนมุม
เมื่อมาถึงจุดนี้ คุณคงใส่การ์ดจนเต็มเด็คของคุณแล้ว ถือว่าทำได้ดีเลย! ต่อไปก็ได้เวลาแก้ไขเด็คให้เหมาะสม และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือการคำนึงถึง “กราฟมานา” ของเด็ค กราฟมานาเปรียบเสมือนรูปทรงของเด็คเมื่อคุณตั้งการ์ดโดยจำแนกและเรียงตามค่าร่ายจากต่ำไปสูง โดยปกติแล้วจะเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ เด็คที่เน้นเกมรุกเพื่อปิดเกมเร็วมักจะมีการ์ดค่าร่ายต่ำจำนวนมาก ทำให้กราฟมานาเอนเอียงไปทางด้านหน้ามากกว่า ในขณะที่เด็คที่ต้องการเน้นเกมยาวจะมีกราฟที่ไม่โดดมาก มีการ์ดค่าร่ายต่ำเล็กน้อย การ์ดค่าร่ายปานกลางเป็นส่วนใหญ่ และมีการ์ดค่าร่ายสูงอีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ปิดเกม ลองดูเงื่อนไขชนะเกมของเด็คคุณ แล้วแก้ไขการ์ดในเด็คของคุณจนคุณรู้สึกว่ากราฟมานาของเด็คนั้นเหมาะสมแล้ว
ได้เวลาสนุกแล้ว ลองเอาเด็คของคุณไปเล่นเลย! เมื่อคุณลองเล่นไปเรื่อยๆ คุณอาจพบว่าคุณมีการ์ดบางใบมากเกินไป มีการ์ดบางใบน้อยเกินไป หรือคุณเจอแต่เด็คประเภทเดียวกันบ่อยๆ แล้วคุณต้องการปรับเปลี่ยนเด็คของคุณเพื่อแก้ทางเด็คเหล่านั้น หลังจากคุณเล่นและแก้ไขเด็คไปได้สักพัก คุณก็จะมีเด็คที่คุณภาคภูมิใจได้ว่าเป็นเด็คของคุณเอง
ขอให้คุณโชคดีนะ เราอยากเห็นว่าคุณจะสร้างเด็คแบบไหน!
ถึงแม้ว่าการจัดเด็คจะเป็นประสบการณ์ที่สนุกและท้าทายความสามารถ แต่ก็อาจทำให้สมองของคุณรู้สึกเหนื่อยล้าได้ ในกรณีที่คุณอยากผ่อนคลายแล้วให้เราช่วย Hearthstone ก็มีระบบช่วยจัดเด็คที่ดีที่สุดโดยอิงจากแนวทางการเล่นในปัจจุบันและการ์ดที่คุณมีในคอลเลกชันของคุณ
หากคุณต้องการใช้ตัวช่วยสร้างเด็คแสนชาญฉลาด ให้คุณเริ่มด้วยการจัดเด็คโดยใช้คลาสใดก็ได้ ใส่การ์ดกี่ใบก็ได้ จากนั้นคลิก “จัดเด็คให้เสร็จ” หรือ “เสร็จสิ้น” แล้วตัวช่วยสร้างเด็คจะเติมการ์ดที่เหลืออย่างชาญฉลาดโดยอิงจากการ์ดที่คุณใส่ไว้แล้ว และเลือกใช้เฉพาะการ์ดที่มีในคอลเลกชันของคุณเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเลือกเด็คฮันเตอร์แล้วเพิ่ม [[สิงโตแห่งทุ่งหญ้า]] (Savannah Highmane) และ [[เล่นแกล้งตาย]] (Play Dead) ตัวช่วยสร้างเด็คแสนชาญฉลาดอาจจะจัดเด็คที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเสียงสุดท้าย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวช่วยสร้างเด็คแสนชาญฉลาด โปรดอ่านบล็อกของเรา